Categories
News

ตรวจอาการเบื้องต้น: ลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction)

ตรวจอาการเบื้องต้น: ลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction) คือภาวะที่มีสิ่งอุดตันหรือมีการรบกวนการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาหารหรือของเหลวต่าง ๆ เคลื่อนผ่านไม่ได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง อาการที่เกิดขึ้นมักบอกถึงตำแหน่งการอุดตันของลำไส้

โดยลำไส้อาจเกิดการอุดตันเพียงบางส่วนหรืออุดตันได้ทั้งหมด ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น ท้องผูกรุนแรง พังผืดในลำไส้ ลำไส้ทำงานผิดปกติ เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออาการอื่น ๆ ของภาวะลำไส้อุดตัน ถ้าปล่อยไว้หรือไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่มีอาการรุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

อาการของลำไส้อุดตัน

ลำไส้อุดตันอาจแสดงออกได้หลายอาการ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลำไส้ที่อุดตัน เช่น เบื่ออาหาร ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ช่องท้องมีเสียงดังผิดปกติ เป็นต้น ลำไส้อุดตันทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการที่บอกถึงการอุดตันของลำไส้ รวมถึงหากพบอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

อาการซึ่งเป็นผลมาจากการอุดตันที่ลำไส้เล็ก

ปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้ซี่โครงหรือสะดือ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือพบอัตราการเต้นของชีพจรและการหายใจที่เร็วกว่าปกติร่วมด้วย
คลื่นไส้ อาเจียน
ไม่สามารถผายลมได้
ท้องอืด แน่นท้อง หรืออาจกดแล้วเจ็บที่บริเวณท้อง

อาการที่เป็นผลมาจากการอุดตันที่ลำไส้ใหญ่

ท้องอืด แน่นท้อง
ปวดท้อง อาการจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการอุดตัน
ท้องผูกในช่วงที่เกิดการอุดตันของลำไส้หรือก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลายเดือน
เลือดออกทางทวารหนัก
ท้องเสียหรือท้องร่วง ของเหลวในอุจจาระเล็ดลอดผ่านลำไส้ที่เกิดการอุดตันเพียงบางส่วน

สาเหตุของลำไส้อุดตัน

ลำไส้อุดตันแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ภาวะลำไส้ตีบตัน และภาวะลำไส้อืด โดยแต่ละประเภทมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป
ภาวะลำไส้ตีบตัน (Mechanical Obstructions)

ภาวะลำไส้ตีบตัน คือ ภาวะที่เกิดจากบางสิ่งไปอุดตันทางเดินของลำไส้ โดยเฉพาะการเกิดพังผืดในลำไส้ซึ่งมักเกิดภายหลังการผ่าตัดภายในช่องท้อง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ หรืออาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

สาเหตุของการเกิดลำไส้อุดตันที่พบได้ในผู้ใหญ่ เช่น

มะเร็งลำไส้ใหญ่
เนื้องอกในลำไส้เล็ก
ไส้เลื่อน
นิ่วในถุงน้ำดี

สาเหตุของการเกิดลำไส้อุดตันที่พบได้ในเด็ก เช่น

ลำไส้กลืนกัน
การกลืนสิ่งแปลกปลอม
ความผิดปกติของลำไส้ในทารกแรกเกิด

รวมถึงสาเหตุที่พบได้น้อย เช่น

ลำไส้อักเสบ เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
อุจจาระตกค้าง
การตีบแคบของลำไส้ใหญ่ที่เป็นผลมาจากแผลหรือการอักเสบ
ขี้เทาในทารกแรกเกิด

ภาวะลำไส้อืด (Nonmechanical Obstructions)

ภาวะลำไส้อืดคือภาวะการทำงานผิดปกติของลำไส้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถบีบตัวและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่าย หรือเรียกภาวะนี้ว่า Paralytic Ileus โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

การผ่าตัดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน
การติดเชื้อ เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ไส้ติ่ง เป็นต้น
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า กลุ่มยาระงับปวดโอปิออยด์ (Opioids) หรือกลุ่มยาแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinics) เป็นต้น
ความไม่สมดุลของแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย เช่น ระดับโพแทสเซียมในเลือดที่ลดลง เป็นต้น
ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น โรคพาร์คินสัน (Parkinson’s Disease) โรคเบาหวาน เป็นต้น
โรคลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Hirschsprung’s Disease) ซึ่งผิดปกติที่เส้นประสาทส่วนลำไส้ในทารกแรกเกิด

การวินิจฉัยลำไส้อุดตัน

ในการวินิจฉัยตำแหน่งและสาเหตุของการเกิดลำไส้อุดตัน แพทย์จะถามเกี่ยวกับประวัติของผู้ป่วย รวมถึงอาการต่าง ๆ ว่าเริ่มปวดท้องหรือพบอาการตั้งแต่เมื่อใด เคยพบอาการเหล่านี้มาก่อนหรือไม่ มีอาการปวดอย่างต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ อุจจาระเป็นเลือด ท้องผูก หรือท้องเสียร่วมด้วยหรือเปล่า หรือผู้ป่วยเคยมีประวัติการผ่าตัดหรือฉายรังสีที่บริเวณช่องท้องมาก่อนหรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจอาการบวมที่ช่องท้อง ฟังเสียงการทำงานของลำไส้ หรืออาจมีแนวทางในการวินิจฉัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

การเอกซเรย์ที่บริเวณช่องท้อง เพื่อยืนยันการเกิดลำไส้อุดตัน แต่บางครั้งการเอกซเรย์อาจไม่ได้ช่วยให้ตรวจพบสาเหตุของลำไส้อุดตันได้
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ร่วมกับการเอกซเรย์ในองศาต่างๆ ภายในช่องท้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยหาสาเหตุและตำแหน่งที่ลำไส้อุดตัน
การอัลตราซาวด์ มักใช้วินิจฉัยลำไส้อุดตันที่พบในเด็กหรือเด็กที่มีภาวะลำไส้กลืนกันร่วมด้วย
การสวนโดยใช้ลมหรือแป้งแบเรี่ยมเข้าไปที่ลำไส้ผ่านทางทวารหนักเพื่อแสดงลักษณะของลำไส้
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscopy) ในกรณีที่ลำไส้ใหญ่อุดตัน

การรักษาลำไส้อุดตัน

การรักษาลำไส้อุดตันจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุและรักษาที่โรงพยาบาล หากผู้ป่วยมารับการตรวจในโรงพยาบาลแล้วสงสัยภาวะลำไส้อุดตัน แพทย์จะประคองอาการท้องอืดโดยใส่สายยางผ่านทางจมูกเพื่อดูดเอาอากาศและของเหลวออกจากกระเพาะอาหารทำให้อาการบวมที่บริเวณช่องท้องลดลง และบรรเทาอาการปวดและอืดแน่นท้อง โดยส่วนใหญ่ การรักษาลำไส้อุดตันมักต้องผ่าตัด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะช็อก แพทย์จะให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดที่บริเวณแขน เพื่อเพิ่มสมดุลระดับแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย และใส่ท่อเพื่อระบายปัสสาวะและนำตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจ จากนั้นแพทย์จะรักษาลำไส้อุดตันตามสาเหตุและอาการของผู้ป่วย โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

1. การรักษาลำไส้อุดตันบางส่วน

ในขั้นนี้ น้ำหรืออาหารยังเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้บ้าง แพทย์อาจให้รับประทานเหลวในระยะแรก หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ในระยะยาวแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น เนื้อแดงปรุงสุก ปลา ไข่ นม โยเกิร์ต ผักกาดหอม กล้วยสุก น้ำผลไม้ เป็นต้น หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย

2. การรักษาลำไส้อุดตันทั้งหมด

ในขั้นนี้น้ำหรืออาหารจะไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้เลย แพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำสิ่งอุดตันออกจากลำไส้ หรือผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เสียหายออก หรือแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใส่ขดลวดถ่างขยายลำไส้ (Metal Stents) เพื่อประคองอาการระหว่างรอผ่าตัด

3. การรักษาภาวะลำไส้อืด

อาการอาจดีขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์อาจให้อาหารทางสายยางเพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้ยาช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังการรักษาด้วยยา อาจต้องผ่าตัดลำไส้ในส่วนที่เกิดความเสียหายออก หากพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะลำไส้ขยายตัว แพทย์จะรักษาด้วยการบีบไล่อุจจาระร่วมกับการส่องกล้อง

ภาวะแทรกซ้อนของลำไส้อุดตัน

หากปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ ระดับแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายไม่สมดุล ลำไส้ทะลุ ภาวะไตวาย หากการอุดตันที่เกิดขึ้นไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไม่ให้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของลำไส้อาจทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น เนื้อเยื่อในลำไส้ตาย ลำไส้ทะลุและเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว หรือเสียชีวิตได้

การป้องกันลำไส้อุดตัน

ลำไส้อุดตันป้องกันได้โดยลดการเกิดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต เช่น

– หากพบประวัติการผ่าตัดในช่องท้อง ควรไปติดตามผลกับแพทย์ผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีอาการท้องอืด แน่นท้อง อาเจียน ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลรักษา
– เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ รับประทานผักและผลไม้ งดการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรไปตรวจหามะเร็งลำไส้ปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี
– หลี่กเลี่ยงการยกของหนังเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน ซึ่งจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อลำไส้ หากพบว่ามีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นใต้ผิวหนังที่บริเวณหน้าท้องหรือที่ขาหนีบ ควรไปพบแพทย์
– ในปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ทางการแพทย์ถึงวิธีที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ แต่แพทย์บางส่วนเชื่อว่าการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ มัน ถั่ว ขนมปังธัญพืช เป็นต้น ช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้